วันเสาร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2560

พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๓



พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๓
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

      สำหรับอารมณ์จิตที่เป็นฌานในพรหมวิหาร ๔ ก็คือว่ามีอารมณ์อยู่อย่างนี้เป็นปกติ ไม่มีความหวั่นไหวต่ออาการใดๆ ที่เข้ามากระทบกระทั่งใจ แทนที่จะเกลียด แทนที่จะโกรธ เราก็ยังมีเมตตา ความรัก เรามีความกรุณา ความสงสาร มีจิตอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยาเขา เมื่อเขาพลาดพลั้งเราไม่ซ้ำเติม เฉย ถือว่าเป็นกฏของกรรม นี่ว่ากันโดยอาการของการทรงพรหมวิหาร ๔ ให้เป็นฌาน
คำว่าฌานนี้ไม่ใช่นั่งหลับตา ฌานนั่งหลับตาน่ะ มันฌานไม่จริง ฌานจริงๆ นั้นก็คือว่า อารมณ์มันทรงอยู่เป็นปกติ หลับตาหรือลืมตา พูดอยู่ คุยอยู่ ทำงานอยู่ จิตใจเยือกเย็นมีความสุข ปรารถนาที่จะเกื้อกูลบุคคลที่มีความทุกข์ให้มีความสุข นี่ชื่อว่าฌานของพรหมวิหาร ๔ คือ อารมณ์ ๔ ประการนี่ต้องทรงตัว

พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๓
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)
ท่านโยคาวจรทั้งหลาย วันนี้บรรดาท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว โปรดตั้งใจสดับเรื่องราวของพรหมวิหาร ๔ ต่อไป สำหรับการเจริญพระกรรมฐานเพื่อหวังมรรคผล หรือว่าเพื่อฌานสมาบัติ หรือว่าเพียงแค่จิตสงบ ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน อย่าลืมกฎสำคัญในพระพุทธศาสนาที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรัสไว้ว่า บุคคลใดที่คล่องในอิทธิบาท ๔ หมายความว่าเป็นผู้มีความชำนาญในอิทธิบาท ๔ บุคคลผู้นั้นจะทำอะไรก็ตาม จะมีผลสำเร็จทุกอย่าง
ฉะนั้น ขอท่านทั้งหลายที่ตั้งใจสร้างความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความดีที่ท่านทั้งหลายตั้งใจทำกัน นั่นก็คือ ความดีแห่งการหมดทุกข์ แต่ทว่าท่านทั้งหลายจงอย่าลืมความรู้สึกของท่าน คือ สติสัมปชัญญะและปัญญา ก่อนที่จะพูด ก่อนที่จะทำอะไร ใช้สติเป็นเครื่องระลึก ใช้สัมปชัญญะเป็นเครื่องรู้ตัว ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเสียก่อน ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าแม้แต่การสอนพระกรรมฐาน เราสอนกันอยู่เป็นปกติ ฟังกันเป็นปกติ แต่ก็ยังมีความรู้สึกอยู่ว่า บางท่านขาดสติสัมปชัญญะอยู่มาก และบางรายก็ไร้ทั้งสติสัมปชัญญะและก็ปัญญา อาการที่แสดงออกมาจากการพูดก็ดี จากการกระทำก็ดี บางทีก็ทำให้คนอื่นคลายศรัทธาปสาทะ การผิดพลาดในการปฏิบัติในงานย่อมมีเป็นของธรรมดา แต่ทว่าถ้าหากว่าท่านผู้นั้นทำไปเพราะอาศัยไม่มีเจตนาร้าย ก็ยังไม่ควรจะติ
และอีกประการหนึ่ง การจะติ หรือการจะแนะนำ การจะเตือน ก็จงใช้ปัญญาพิจารณาเสียก่อน ว่าเราควรจะพูดอย่างไร ให้เพื่อนร่วมสำนักกันมีความเข้าใจว่า จริยาอย่างนั้นหรือการกระทำอย่างนั้นมันไม่ดี และก็ควรใช้วาจาประเภทสัมโมทนียกถา เราติแต่ว่าแกมชม หรือว่าชมแต่ว่าแกมติ ให้คนนั้นรู้สึกว่าการกระทำของเขาเป็นการทำผิด แต่ทว่าอย่าให้ถึงกับสะเทือนใจเกินไป เว้นไว้แต่ว่าถ้าใช้วาจาอย่างนี้ นิสัยคนหยาบย่อมไม่รับฟัง ไม่รับการปฏิบัติ นั่นจึงควรใช้วาจาที่หนัก เพราะว่านิสัยคนหยาบ ถ้าปลอบก็รู้สึกว่าจะไม่รู้สึกตัว ก็ต้องใช้ขู่ตะคอก นี่เป็นเรื่องธรรมดา
อย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่าจริยาของเรามี ๒ อย่าง คือ นิคคัยหะ ปัคคัยหะ ถ้าใครดีเราก็ชมเชย ถ้าไม่ดีเราก็ข่มขู่ แต่ว่าจริยาที่องค์สมเด็จพระบรมครู ก่อนที่จะข่มขู่ด้วยอาการรุนแรง มักจะหาเหตุหาผลแวดล้อมมาพูดให้เข้าใจก่อน ถ้าไม่เชื่อ องค์สมเด็จพระชินวรก็ใช้ปัพพาชนียกรรม คือ ขับออกไปจากสถานที่ ดูตัวอย่าง เช่น พระวักกลิ เป็นต้น ซึ่งองค์สมเด็จพระทศพลทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ให้พระวักกลินั่งเฉย ๆ ชมเฉย ๆ อยู่ถึง ๓ ปี แต่ว่าพระวักกลิก็เอาความดีอะไรไม่ได้ ฉะนั้นองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาจึงลงโทษด้วยปัพพาชนียกรรม คือขับออกจากสำนัก
ฉะนั้น พวกเราเหล่าพุทธบริษัท คือ ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ทุกคนจงรู้ตัวของตนว่า วาจาที่กล่าวออกไปก็ดี และการที่เราทำออกไปก็ดี มันดีหรือว่ามันเลว การทำลายจิตใจของบรรดาเพื่อนสหธรรมมิกด้วยกัน ให้ท้อแท้จากการบำเพ็ญกุศล นี่ชื่อว่าใจของเราหมองหม่นด้วยอำนาจของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลธรรม หรือจะว่ากันไปอีกที ก็ขาดพรหมวิหาร ๔ ซึ่งเรากำลังศึกษากันอยู่
สำหรับพรหมวิหาร ๔ นี้ เมื่อวันที่แล้วได้พูดมาถึง ลักษณะของพรหมวิหาร และให้ตั้งใจไว้ในขั้นพระโสดาบัน คือว่า พรหมวิหาร ๔ นี้ ท่านบอกว่าต้องทรงฌาน คำว่าทรงฌานในพรหมวิหาร ๔ นี่ ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทพึงทราบ ไม่ใช่เราจะไปนั่งภาวนาว่า เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ถ้านั่งภาวนาอย่างนี้ล่ะก็ กี่แสนชาติ พรหมวิหาร ๔ ก็ไม่ทรงฌาน
สำหรับอารมณ์ที่จะทรงฌานให้เป็นปกติ นั่นก็คือ อานาปานุสสติกรรมฐาน เราจะควบกับพุทธานุสสติกรรมฐาน ธัมมานุสสติกรรมฐาน สังฆานุสสติกรรมฐาน หรือว่าอุปสมานุสสติกรรมฐาน ก็ได้ ตามใจชอบ เวลาที่เราต้องการทรงจิตสงบ เมื่อจิตสงบแล้วก็ใช้อารมณ์มาคิด สำหรับพรหมวิหาร ๔ นี้จะมีการทรงฌานเพราะอาการคิด คือใคร่ครวญน้อมจิตจากอารมณ์ชั่วมาเป็นอารมณ์ดี อารมณ์ชั่วก็คือ ความโหดร้าย คิดจะประทุษร้ายบุคคลอื่น คิดจะกลั่นแกล้งบุคคลอื่น เกลียดชัง หวังจะทำให้เขามีความทุกข์ แต่ทว่า พรหมวิหาร ๔ นี่เป็นปัจจัยแสวงหาความสุขทั้งเราและทั้งเขา
ความจริงเรื่องพรหมวิหาร ๔ นี้ ดูเหมือนว่าผมจะพูดมาสักหลายสิบครั้งแล้ว แต่ว่ายังมีบางท่านที่เป็นผู้ไร้ปัญญา ไร้สติสัมปชัญญะ ยังใช้สติสัมปชัญญะก็ดี ปัญญาก็ดี และก็ปราศจากความใคร่ครวญพิจารณา ยังมีอยู่ อาการอย่างนี้น่าสงสารองค์สมเด็จพระบรมครู คือ พระพุทธเจ้าที่พร่ำสอนพวกเรามา กว่าจะได้สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณ องค์สมเด็จพระพิชิตมารต้องบำเพ็ญบารมีถึง ๔ อสงไขยกับแสนกัป จนกว่าบารมีจะเต็ม เอาความรู้อย่างนี้มาสอนเรา แต่ว่าถ้าพวกเราคนใดคนหนึ่งไม่คำนึงถึงความดี ที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงสอน ก็เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องกลับไปลงอเวจีมหานรกตั้งต้นกันใหม่
ต่อแต่นี้ไปจะกล่าวถึง วิธีการทรงฌานในพรหมวิหาร ๔ คือว่าจิตของเรามี ๒ อารมณ์ บางอารมณ์มันเป็นอารมณ์ชอบคิด บางคราวชอบคิด แต่บางคราวชอบสงบ
ถ้าเวลาที่จิตของเราต้องการความสงบ เราก็ยึดอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นพื้นฐาน ให้จิตทรงตัว แต่การที่ท่านจะภาวนาว่าอย่างไรร่วมด้วย อันนี้ผมไม่ห้าม เพราะว่าคำภาวนาเป็นเครื่องโยงจิตให้ทรงสมาธิ บางท่านไม่ต้องการภาวนา ก็ใช้แต่เพียงกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ทั้ง ๒ แบบ คือ แบบมหาสติปัฏฐานสูตร หายใจเข้าหายใจออกรู้อยู่ หายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้นก็รู้อยู่ อย่างนี้ตามแบบมหาสติปัฏฐานสูตร
ถ้าตามแบบกรรมฐาน ๔๐ ใช้กำหนดรู้ลมหายใจ ๓ ฐาน เวลาหายใจเข้า ลมกระทบจมูก-รู้ กระทบหน้าอก-รู้ กระทบศูนย์เหนือสะดือ-รู้ เวลาหายใจออกลมกระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบหน้าอก กระทบจมูก หรือว่าริมฝีปากก็รู้ เอาจิตจับจุดเพียงแค่นี้ ประเดี๋ยวเดียวจิตก็ทรงฌาน ถ้าหากว่าจะภาวนาว่ายังไงด้วยก็ตามใจหรือไม่ภาวนาเลยก็ตามใจ ทำเพื่อให้จิตสงบ ให้จิตทรงตัว
ทีนี้บางขณะจิตต้องการคิด ในพรหมวิหาร ๔ ต้องใช้อารมณ์คิด คิดหาเหตุหาผลว่า คนและสัตว์ทุกคนในโลกนี้ มีเรา เป็นต้น ไม่ต้องการความทุกข์ เราต้องการแต่ความสุข เราไม่ต้องการศัตรู เราต้องการความเป็นมิตร เรื่องคิดไม่ต้องไปคิดถึงคนอื่น คิดถึงเรา กิริยาเช่นใดหรือวาจาเช่นใด ที่คนอื่นใดเขาทำกับเรา เราไม่ชอบ ก็จงมีความรู้สึกว่าอาการวาจาหรือกิริยาเช่นนั้น ถ้าเรากระทำกับคนอื่น คนอื่นก็ไม่ชอบเหมือนกัน
นี่การศึกษาธรรมะในศาสนาขององค์สมเด็จพระทรงธรรม์ เขาสอน เขาคิดเข้ามาหาตัว เอาใจเราเป็นเครื่องวัด ว่าเราต้องการความเมตตาปรานีจากคนอื่นฉันใด บุคคลทั้งหลายก็ต้องการความเมตตาปรานีจากเราเหมือนกัน ตอนนี้เห็นว่าพอจะมีความเข้าใจ
ฉะนั้น อารมณ์ใจของเราก็คิดไว้เสมอว่า เราจะรักคนและรักสัตว์นอกจากตัวเราเหมือนกับเรารักตัวเรา เราจะสงสารเขาเหมือนกับที่เราต้องการให้คนอื่นเขาสงสารเรา เราจะรักเขาเหมือนกับที่เราต้องการให้เขารักเรา เราจะสงสารเขาคือผู้อื่นทั้งหมดเหมือนกับเราต้องการให้เขาสงสารเรา เราจะไม่อิจฉาริษยาใครเมื่อบุคคลอื่นใดใครได้ดี หรือว่าสมมุติว่าถ้าเรามีลาภสักการะ เรามีความดี ถ้าคนอื่นมาแสดงความยินดีด้วยเราก็พอใจ ฉะนั้นเวลาที่ใครเขาได้ดี แทนที่เราจะอิจฉาริษยา เราก็พลอยยินดีกับความดีของเขา ทำใจให้มันสบาย แบบนี้
และอีกประการหนึ่ง จะมีอะไรก็ตามทีที่มันมีอารมณ์ขัดข้องใจ เป็นไปตามสภาวะของโลก เช่น ความแก่ ความป่วย ความตาย อารมณ์ที่เราชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง การพลัดพรากจากของคนรักของชอบใจ มันเกิดขึ้น มันของประจำโลก ถือว่านี่เป็นเรื่องธรรมดา
โดยคิดไว้เสมอว่า เมื่อเกิดมาแล้วต้องมีความแก่เป็นธรรมดา ไม่สามารถจะล่วงพ้นความแก่ไปได้ เราจะต้องมีความป่วยไข้เป็นธรรมดา ไม่สามารถจะล่วงพ้นความป่วยไข้ไปได้ เราจะต้องมีความตายเป็นธรรมดา ไม่สามารถจะล่วงพ้นความตายไปได้ เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นธรรมดา ไม่สามารถจะล่วงพ้นไปได้
ทำใจให้มันมีความรู้สึกว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นธรรมดา หรือเมื่ออาการอย่างนั้นปรากฏขึ้น อารมณ์เราก็ปกติ ไม่มีการหวั่นไหวใดๆ ทั้งหมด มีอารมณ์เฉย ๆ ไม่กระทบกระทั่งใจ เป็นอันว่าอย่างนี้เรียกว่าอุเบกขา
หรือว่าโลกธรรมใด ๆ มันเกิดขึ้น ความมีลาภเกิดขึ้นหรือลาภสลายตัวไป การได้ยศมา ยศสลายตัวไป ความสุขจากกามารมณ์โลกีย์วิสัยเกิดขึ้น สุขนั้นสลายไปมีทุกข์มาแทน ได้รับคำนินทาหรือได้รับคำสรรเสริญ อาการอย่างนี้เกิดขึ้นกับเรา เราก็มีความเฉย ๆ เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถือว่าเป็นธรรมดาของชาวโลก เกิดมาอย่างนี้ มันต้องกระทบกระทั่ง ไม่มีใครสามารถล่วงพ้นไปได้ อย่างนี้ชื่อว่า พรหมวิหาร ๔ ของเราครบถ้วน
ถ้าเราถูกนินทาว่าร้าย แทนที่เราจะโกรธ เรากลับสงสารคนที่เขาว่าเรา เขานินทาเรา เพราะว่านั่นเขาสร้างศัตรู เพื่อสร้างความทุกข์ และก็นั่งคอยดูว่าคนเขานินทาว่าร้ายเรา เขาจะหาความสุขอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจิตใจของเราทรงพรหมวิหาร ๔ อยู่เป็นปกติ เขาคิดทำลายเราประเภทไหน อาการอย่างนั้นนั่นแหละ มันจะเข้าถึงกับเขาภายในไม่ช้า ที่โบราณท่านกล่าวว่า การตบมือข้างเดียวไม่ดังหรือว่า การถ่มน้ำลายรดฟ้า มันก็ลงหน้าตัวเองแทนที่เราจะโกรธ เรากลับสงสารว่าเขาไม่น่าจะทำเขาอย่างนั้น
สำหรับอารมณ์จิตที่เป็นฌานในพรหมวิหาร ๔ ก็คือว่ามีอารมณ์อยู่อย่างนี้เป็นปกติ ไม่มีความหวั่นไหวต่ออาการใด ๆ ที่เข้ามากระทบกระทั่งใจ แทนที่จะเกลียด แทนที่จะโกรธ เราก็ยัง
พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๑
พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๒
พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๓
พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๔
พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๕
พรหมวิหาร ๔ ตอนที่ ๖
ขออภัย plugin ขัดข้อง ไม่มีปุ่มให้เปิดฟังที่เว็บ
ต้องคลิกขวา กด save target as ที่ลิงก์ โหลดเข้าเครื่อง เพื่อเปิดฟัง หรือรับฟังที่ youtube ก็ได้ครับ
ที่มา: http://buddhasattha.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น