วันเสาร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2560

พรหมวิหาร ๔ ตัดสังโยชน์ ๑๐



พรหมวิหาร ๔ ตัดสังโยชน์ ๑๐

พรหมวิหาร ๔ ในขั้นสุดท้าย ถ้าจิตใจของบรรดาท่านทั้งหลาย ทรงอิทธิบาท ๔ ครบถ้วน สำหรับพรหมวิหาร ๔ ก็จะสามารถทำให้ท่านทั้งหลายเป็นพระอรหันต์ได้โดยเร็ว

จงอย่าลืมธรรมะอีกข้อหนึ่งว่า เราจะแก้กิเลสตัวไหน กิเลสตัวนั้นมันเข้ามายุ่งกับใจเราเสมอ เพราะมันเป็นข้าศึก ถ้าหากว่าเราจะแก้ความโลภ ทรัพย์สมบัติมันจะเกิดขึ้นมามากโดยที่คาดไม่ถึง

ถ้าจิตของเราไปติดทรัพย์สมบัติทั้งหลายเหล่านั้น แสดงว่าเราก็แพ้กิเลส ถ้าหากว่าเราจะแก้ราคะ ความรักในเพศ หรือความสวยสดงดงาม นั่นจะพบกับแขกที่มีเพศตรงกันข้าม มีลักษณะท่าทางสวยงามสง่าผ่าเผย อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สิน มีจริยาเพียบพร้อมเป็นที่น่ารัก มายั่วยวน ถ้าจิตใจของเราไม่คล้อยตามไป ชื่อว่าเราชนะ ถ้าเราคล้อยตามไป มีความพอใจ เราแพ้แก่กิเลส

เวลานี้บรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ กำลังเจริญพรหมวิหาร ๔ มีเมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร มุทิตา มีจิตอ่อนโยนไม่อิจฉาริษยาใคร อุเบกขา วางเฉยต่ออารมณ์ของความชั่ว ในขณะที่เราทรงพรหมวิหาร ๔ นี่ เพื่อเป็นการตัดกิเลสตัวสำคัญ คือ โทสะ ก็จงระมัดระวังว่า อาการที่มันจะเกิดโทสะขึ้นอย่างไม่คาดฝัน มันจะมีมาถึงเรา อยู่เฉยๆ อาจจะมีคนแกล้งมาหาเรื่องก็ได้ เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ผมประสบมามากในขณะที่ฝึก แต่่ว่าเราก็ผ่านมาได้แบบสบายๆ ทั้งนี้มันขึ้นอยู่กับกำลังใจ หรือว่า อิทธิบาท ๔ อย่างเดียว


การเจริญพรหมวิหาร ๔ ของท่าน ผมได้กล่าวมาแล้วถึงขั้นอนาคามีผล คือว่า การเจริญพรหมวิหาร ๔ เป็นพระอนาคามีไม่ยาก ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะเรามี เมตตา ความรัก รักใคร รักตัวเรานี่แหละเป็นตัวสำคัญ กรุณา ความสงสาร เราสงสารใคร เราสงสารตัวเรา มุทิตา มีจิตอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยา คือไม่มีอารมณ์เครียด ในเมื่อความดีมันเข้ามาถึง อุเบกขา วางเฉย เฉยต่ออารมณ์ภายนอก เฉยต่ออารมณ์ภายใน เฉยต่ออาการของขันธ์ ๕ ความจริงการเจริญพรหมวิหาร ๔ นี้เป็นพระอรหันต์ได้ง่าย

ที่ผมว่ารักตัวเราก็เพราะอะไร คือว่าถ้าจิตของเราไปติดในกามฉันทะ ก็ชื่อว่าเราเป็นคนไม่รักตัวเราเอง เพราะกามฉันทะ เป็นกามคุณ ๕ ได้แก่ รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ อันนี้มันเป็นของไม่ดี อะไรที่ไหนมันสวยจริง กลิ่นที่ไหนมันหอมเสมอ รสที่ไหนมันอร่อยเลิศตลอดกาลตลอดสมัย สัมผัสเป็นเหตุเกิดความสุขใจ แต่มันทุกข์อะไรบ้าง นี่มันเป็นของไม่ดี ถ้าเรารักตัวเราจริงๆ เราก็ไม่ไปยุ่งกับราคะความรัก

และสำหรับโลภะ คือความโลภ ความร่ำรวยมันเป็นของดีหรือว่ามันเป็นของเลว เป็นเหตุนำมาซึ่งความสุขหรือเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ เรามองกันจริงๆ คนที่รวยก็แก่ ก็ป่วย ก็ตาย ด้วยกันทุกคน แล้วก็มีอารมณ์เร่าร้อน ทรัพย์สินทั้งหลายที่เขารวบรวมไว้ได้ ไม่มีใครนำไปได้ เมื่อเวลาตาย หากว่าเราไปติดรวยก็แสดงว่าเราไม่รักตัวเอง การที่เราจะรักตัวเองเราต้องเป็นคนวางภาระในความต้องการร่ำรวยเสีย

ต่อมาอารมณ์โกรธ อารมณ์โกรธนี่เป็นอารมณ์ของความเร่าร้อน ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลย เราจะฆ่าเขา เขาก็ตาย เราจะแกล้งให้เขามีทุกข์เขาก็มี ถ้าเราไม่ฆ่าเขาเขาก็ตาย เราไม่กลั่นแกล้งให้เขามีทุกข์ เขาก็ทุกข์อยู่แล้ว ฉะนั้นจะต้องไปทำทำไม ถ้าเรารักตัวเราก็อย่าสร้างโทสะ ความโกรธให้มันเกิดขึ้น มันสร้างความเร่าร้อนเปล่าๆ ไม่ได้เกิดประโยชน์ ใครจะบ้าก็ปล่อยให้เขาบ้าไปตามเรื่องตามราว เป็นอันว่าคนที่ทำให้เราโกรธ เราคิดว่านั่นเขาบ้า เขาบ้าตรงไหน บ้าชีวิต บ้าฐานะ บ้าความเป็นอยู่ เพราะอะไร เพราะคนโกรธก็มีอาการเหมือนคนบ้านั่นเอง ยามปกติคนทุกคนต้องการความสงบเสงี่ยม ต้องการความเรียบร้อย แต่ทว่า ความโกรธเกิดขึ้น สติสัมปชัญญะแห่งความดีมันก็หายไป มันก็เหลือแต่ความเลว มันหลั่งไหลมานอกหน้า นี่ถ้าเราสงสารตัวเราเอง เราก็จงอย่าโกรธ เพราะถ้าเราไม่โกรธเราไม่บ้า

ดูตัวอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พราหมณ์ด่าพระพุทธเจ้าต่อหน้าธารกำนัล องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ก็ทรงเฉย พราหมณ์ชี้หน้าบอกว่า "พระสมณโคดม แกแพ้ข้าแล้ว" พระพุทธเจ้าทรงถามว่า "แพ้ตรงไหน" พราหมณ์จึงตอบว่า "ฉันด่าแก แกไม่ด่าตอบข้า ก็แพ้ข้า" สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรัสว่า "พราหมณะ ดูก่อนพราหมณ์ ตถาคตคิดว่าถ้าใครเขาด่าตถาคต ถ้าตถาคตไปด่าตอบคนนั้น แสดงว่าตถาคตน่ะเลวกว่าคนนั้น" เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าทรงด่าพราหมณ์อย่างหนัก พราหมณ์มีปัญญารู้สึกตัว คิดว่าตัวผิดไปเสียแล้ว จึงนั่งกระหย่งถวายนมัสการองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว แล้วกล่าวว่า "ภาษิตที่ท่านตรัสวันนี้เป็นของดีมาก ประเสริฐมาก คล้ายกับหงายหม้อที่กำลังคว่ำอยู่ ให้ปากชูขึ้นรับน้ำฝน" แล้วจึงได้น้อมจิตใจของตนขอบวชในพุทธศาสนา เพราะอาศัยที่รู้ตัวว่าชั่วของพราหมณ์ ไม่ช้าพราหมณ์ก็ได้สำเร็จอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลเบื้องสูงในพระพุทธศาสนา

นี่เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เราควรจะศึกษากัน จงคิดว่าคนที่มีความโกรธคือคนบ้า บ้าในชีวิต บ้าในฐานะ เมาในศักดิ์ศรี ซึ่งมันไม่เป็นของดี ไม่เป็นของจริง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นอนิจจัง มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกขัง ถ้าเราเมาในมันก็เป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา ในที่สุดเราก็ตาย จะแบกยศถาบรรดาศักดิ์ไปทางไหนกัน เป็นอันว่าเรื่องของการเจริญพรหมวิหาร ๔ เป็นอรหันต์ง่าย เป็นอรหันต์เพราะว่าเรารักตัวของเราเอง เราสงสารตัวของเราเอง เรารักตัวเรา ก็คือเราไม่ทำความชั่ว เพราะความชั่วเป็นเหตุแห่งความเร่าร้อน เราสงสารตัวเราเราก็ระวังไม่ให้ความชั่วมันเกิดขึ้น

ข้อที่สาม มีจิตอ่อนโยน คือกำลังจิตไม่แข็งไม่กระด้าง โครเขาทำดีทำชั่ว ช่างเขา เราพยายามรักษากำลังใจของเราให้บริสุทธิ์

อุเบกขา วางเฉยต่ออารมณ์ทั้งหมด อารมณ์ที่มันมาจากกระแสเสียงก็ดี มาจากอาการทางกายก็ดี ทั้งอารมณ์ภายนอกและอารมณ์ภายใน อารมณ์ภายนอกหมายถึงว่าตาสัมผัสรูป ไม่สนในรูป หูสัมผัสเสียงไม่สนใจในเสียง จมูกสัมผัสกลิ่นไม่สนใจในกลิ่น ลิ้นสัมผัสรส ไม่สนใจในรส กายสัมผัสแตะต้อง ไม่มีความสนใจในการสัมผัส นี่เรียกว่าเป็นอารมณ์มาจากทั้งภายนอกและภายใน อารมณ์ภายนอกเราชอบใจในรูป ชอบใจในเสียง อารมณ์ภายในนี่กำลังใจที่เข้าไปชอบ เห็นรูปสวยเราชอบ นั่นล่ะรูป เป็นอารมณ์ภายนอก

ความรู้สึกเป็นอารมณ์ภายใน เราวางเสียให้หมด ถ้าเรารักตัวเรา นี่ถ้าเราเจริญพรหมวิหาร ๔ จริงๆ พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ถ้าเราจะรักใคร เราต้องรักตัวเราก่อน ถ้าเราสงสารเขา เราก็สงสารตัวเราก่อน เราจะช่วยเขา เราต้องช่วยตัวเราก่อน อย่างภาษิตโบราณที่ท่านกล่าวว่า ถ้าจะเอาเตี้ยไปอุ้มค่อมมันก็ไม่มีความหมาย ต่างคนต่างเตี้ยด้วยกัน คนที่จะอุ้มคนขึ้นมาได้ให้มันพ้นพื้นดิน คนที่อุ้มต้องมีกายสูงกว่าใหญ่กว่าบุคคลที่ถูกอุ้มฉันใด แม้แต่การปฏิบัติในพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็เหมือนกัน เราจะทำให้ชาวบ้านเขาเป็นสุข เราต้องทำใจของเราให้ถึงความสุขเสียก่อน

มาตอนนี้เราก็มาพูดกันว่า เราจะทำยังไงล่ะ มันถึงจะสุขจริงๆ ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง ทุกวันที่เราลืมตาขึ้นมา จงมองดู พรหมวิหาร ๔ เป็นอันดับแรก แล้วก็ดู อิทธิบาท ๔ ดูบารมี ๑๐ แล้วก็ จรณะ ๑๕ ทั้ง ๔ ประการนี้ให้มันอยู่ครบถ้วน จากนั้นไปจิตใจของเราสบาย เราก็มานั่งไล่เบี้ยสังโยชน์ ๑๐ ประการ ตอนนี้เรามานั่งไล่เบี้ยกันแล้ว

สังโยชน์ ๑๐ ประการ เบื้องต้นคือ ๕ อย่างที่มีความร้างแรงและหนัก เราผ่านมาแล้วได้แก่

สักกายทิฏฐิ อันดับต้นมีความรู้สึกว่าเราจะตาย

วิจิกิจฉา การสงสัยในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีในเรา คือคำว่าไม่สงสัยหมายความว่า พระพุทธเจ้าห้ามอย่างไหนเราละอย่างนั้น ทรงสนับสนุนอย่างไหน ปฏิบัติอย่างนั้น มีในเราแล้ว

สีลัพพตปรามาส นี่เรามีศีลบริสุทธิ์

กามฉันทะ เราตัดมันได้แล้ว จากอนาคามี

ปฏิฆะ อารมณ์ที่เข้ามากระทบใจ คือบุคคลใดเขาจะกลั่นแกล้งให้สร้างความโกรธ เราไม่่โกรธในเขา ให้อภัยทาน อย่างนี้เราชนะมันแล้ว

ต่อแต่นี้ไปก็ทบทวนสังโยชน์อีก ๕ ประการ ที่องค์สมเด็จพระประทีปแก้วกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นอนุสัย มันเป็นกำลังใจที่ทำยากสักนิดหนึ่ง สังโยชน์ ๕ ประการหลังคือ

รูปราคะ การหลงไหลใฝ่ฝันในรูปฌาน คือเมาในการเข้าฌาน เห็นว่าการเข้าฌานนี่เป็นของประเสริฐ เป็นของเลิศ เป็นของดีพอที่จะโอ้อวดใครต่อใครได้ว่า เราทรงฌานได้ดี ใช้เวลานาน การเมาในรูปฌานอย่างนี้ไม่ดีแน่ เพราะว่า รูปฌาน ก็ดี อรูปฌาน ก็ดี ทั้งสองประการนี้เป็นแต่เพียงบันไดหรือว่าเครื่องรองรับที่จะก้าวเข้าไปสู่ พระนิพพาน ถ้าจิตใจของเรายับยั้งอยู่แค่รูปฌาน และอรูปฌานมันก็ใช้ไม่ได้ คือว่าท่านทั้งหลาย ถ้าจะทิ้งรูปฌานและอรูปฌาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าได้รูปฌานหรือว่าได้อรูปฌานด้วยก็ตาม ได้ฌานอะไรก็ตาม จะต้องทรงฌานไว้เสมอ ไม่ใช่ว่าถ้าเราจะไม่เมาในรูปฌานและอรูปฌาน นั่นเราไม่เกาะในรูปฌานและอรูปฌาน มันก็ไม่ถูก

เรื่องฌานนี้ต้องเกาะ แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ยังทรงใช้ ในสมัยที่เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระที่เป็นพระอรหันต์ทุกองค์ก็ต้องทรงฌานเป็นปกติ แต่ว่าฌานของพระอริยเจ้าเรียกว่าโลกุตตรฌาน กำลังฌาน ฌานัง แปลว่า การเพ่ง หรือว่า การตั้งใจ กำลังใจพ้นจากสภาวะของโลก นั่นก็คือไม่ติดอยู่ในกามฉันทะ ไม่ติดอยู่ในโลภะ ไม่ติดอยู่ในความโกรธ ความพยาบาท ไม่ติดอยู่ในความหลง เป็นกำลังฌานที่ตั้งใจตรงเฉพาะ พระนิพพาน

ฉะนั้น การที่ไม่ติดอยู่ใน รูปฌาน และ อรูปฌาน แทนที่จะติดอยู่โดยเฉพาะว่า รูปฌาน และอรูปฌานเป็นของดี สามารถทรงกำลังจิตให้มั่นคง จิตเราจะตั้งตรงไว้เฉพาะรูปฌานและอรูปฌาน อย่างนี้เราไม่เอา เราก็เปลี่ยนเป็นว่าใช้กำลังใจให้เป็นฌาน แต่ฌานนี้อยู่ใน อุปสมานุสสติกรรมฐาน คือเอาอุปสมานุสสติกรรมฐาน เข้ามาเป็นอารมณ์ อุปสมานุสสติกรรมฐาน ก็คือ นึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ เห็นว่าโลกเป็นทุกข์ เทวโลกและพรหมโลกเป็นสุขจริง แต่สุขไม่นาน หมดบุญวาสนาบารมีเมื่อไร ก็ต้องลงกลับมาเกิดกันใหม่ มันก็ยุ่งกันอีก เป็นทุกข์ เราไม่ต้องการ

ฉะนั้น ฌานในที่นี้ให้ตั้งไว้ในอุปสมานุสสติกรรมฐาน จิตใจมีความพอใจในพระนิพพานเป็นอารมณ์ อย่างนี้ชื่อว่าไม่หลงในรูปฌานและอรูปฌาน

ต่อไปก็ มานะ การถือตัวถือตน ทรงตรัสว่า อย่าถือตัวเกินไปคำว่าถือตัวเกินไปน่ะมันเกินพอดี ไอ้ตัวน่ะต้องถือ รักษาศักดิ์ศรีในฐานะของตนว่า เวลานี้เราเป็นคนจะไปกินข้าวกับหมาน่ะมันก็ไม่ได้ หรือว่าถ้าเราในฐานะพุทธศาสนิกชน ถ้าเราเป็นพระ เราจะไปวิ่งเล่นกับเด็กมันก็ไม่สมควร หรือว่าถ้าเราเป็นเณร เราจะกินข้าวเย็น ขึ้นต้นไม้เล่นเหมือนลิงมันก็ใช้ไม่ได้ อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลายเป็นผู้ทรงศีล จะทำตนอย่างกะชาวบ้าน ที่เขาปราศจากศีลมันก็ไม่ถูก นี่คำว่าถือตัวนี่พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่า อย่าถือตัวจนเกินไป คำว่า เกินไป มันก็แสดงว่ายังมีคำว่าถืออยู่ คือให้ถืออยู่ให้สมควรแก่ฐานะที่เราทรงอยู่ ไม่ใช่ไปรังเกียจชาวบ้าน เห็นว่าเราเลวกว่าเขา เราเสมอเขา เราดีกว่าเขา คนนั้นชั่วคนนี้ดี ปล่อยเขา เราทรงอารมณ์ไว้ตามอัธยาศัย คือในฐานะที่เราเป็นนักพรต ทรง เนกขัมมบารมี แปลว่า ถือบวช

คำว่าเนกขัมมบารมีแปลว่าถือบวชนี่ บวชจะห่มผ้าเหลืองหรือไม่ห่มผ้าเหลืองก็ได้ นุ่งผ้าลาย นุ่งผ้าสีก็ได้ แต่ว่าถ้าใจเป็นพระ ใจปราศจากกิเลส พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า พระตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นมาท่านเรียกเราว่า พระ คือเริ่มเข้าเขตของความดี ที่เรียกว่า ประเสริฐ ฉะนั้น การถือตัวถือตนที่เรียกว่า มานะ จงวางเสีย แต่ว่าจงถือไว้แต่พอควร ให้สมควรแก่ฐานะของตน

ดูตัวอย่างองค์สมเด็จพระทศพล พระพุทธเจ้าท่านเป็นพระพุทธเจ้าเป็นจอมอรหันต์ ท่านก็วางพระองค์ของท่านให้เหมาะสมในฐานะเป็นพระพุทธเจ้า แต่ก็ไม่ทรงถือสาหาความใคร ใครเขาจะเอาอาหารดีมาให้พระองค์ พระองค์ก็ฉัน อาหารที่ชาวบ้านเขาเรียกว่าเลว ให้มาแล้วพระองค์ก็ฉัน เวลาฉันก็ไม่เคยจะต้องหาแท่นที่ประทับเสมอไป ที่ไหนก็ได้ อย่างเรื่องของ นางบุญทาสี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น